บทความ : ภัยเงียบจากอาหารขยะ

ภัยเงียบจากอาหารขยะ


                ในยุคปัจจุบันคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าวัฒนธรรมตะวันตกได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของคนไทยเป็นอย่างมาก  ซึ่งจากการรับวัฒนธรรมตะวันตกนี้เอง พบว่าเด็กไทยมีอัตราการบริโภคอาหาร Junk food หรือที่เรียกกันอย่างแพร่หลายว่าอาหารขยะ เพิ่มมากขึ้นจนน่าตกใจ  ภายหลังก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพต่างๆ ตามมามากมาย  ปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ล้วนมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ
                ด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในสังคมเมืองที่ต้องแข่งขันกับเวลา  ทำให้อาหารจานด่วนหรือ ฟาสต์ฟูดเป็นที่นิยมกันมาก  เรียกได้ว่าจะไปทางไหนก็จะต้องเจออาหารประเภทดังกล่าวจำหน่ายอยู่ทุกที่ สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมากก็คือ เด็กไทยที่อยู่ในวัยเจริญเติบโต หรือที่เรียกว่า “วัยกำลังกิน กำลังนอน” ควรจะได้รับสารอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการอย่างอาหารหลัก 5 หมู่  แต่กลับกลายเป็นว่าต้องมาบริโภคอาหารขยะแทน  เพราะสามารถหาซื้อได้ง่าย รสชาติดี บรรจุกล่องสวยงาม จึงเป็นที่นิยมของคนเกือบจะทุกเพศทุกวัยก็ว่าได้   ซึ่งอาหารขยะเหล่านี้อุดมไปด้วยไขมัน แป้ง น้ำตาล และให้พลังงานเพียงอย่างเดียว ทำให้เกินความต้องการของร่างกาย นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของโรคอ้วน โรคหัวใจ  เบาหวาน และความดันโลหิตสูงตามมา  และเป็นสาเหตุให้เด็กในปัจจุบันขาดสารอาหารโดย เฉพาะวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ  ที่เป็นสิ่งช่วยสร้างเสริมสุขภาพอนามัยให้แข็งแรง
                ขนมประเภทขบเคี้ยว ถือเป็นอาหารยอดฮิตที่สุด ซึ่งรับประทานกันได้ทั้งวัน บางรายแถมรอบกลางคืน รอบดึก หรือหนักไปกว่านั้น รับประทานแทนข้าวเลย  การแข่งขันทางการตลาดอย่างรุนแรงของผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวในปัจจุบัน โดยเฉพาะการโฆษณาทางโทรทัศน์และการส่งเสริมการขายทางสื่อต่างๆ  ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย  เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กไทยนิยมบริโภคขนมขบเคี้ยวกันอย่างแพร่หลาย  จากการสำรวจของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า  กลุ่มตลาดขนมขบเคี้ยวมีการทุ่มงบประมาณทางการตลาดเป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละปี โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 5 - 24 ปี ซึ่งมีอัตราการบริโภคขนมขบเคี้ยวมากกว่าช่วงอายุอื่นๆ  ทำให้ยอดขายขนมขบเคี้ยวในไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี
                การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ คงหนีไม่พ้นรัฐบาลที่ต้องหามาตรการและออกกฎหมาย ในการควบคุมสื่อไม่ให้มีการโฆษณาอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะได้อย่างแพร่หลายเช่นในปัจจุบัน  รวมถึงการกระตุ้นโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆ ให้ความรู้ทางด้านสุขภาพอนามัยที่ถูกต้องแก่เยาวชนให้มากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นที่จะช่วยลดปริมาณการบริโภคอาหารขยะให้ลดลงได้
                ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภค ไม่ใช่เป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากการทำธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมควบคู่กันไป โดยการเน้นผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ใช้ส่วนผสมที่เป็นผักและผลไม้มากยิ่งขึ้น แทนการใช้เพียงแต่แป้งและน้ำตาล
                หากมองปัญหานี้ให้ถี่ถ้วนแล้วคงไม่เป็นธรรมนัก  ถ้าจะกล่าวโทษกับบริษัทผู้ผลิตเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น  เพราะทุกฝ่ายล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดปัญหาเด็กไทยติดอาหารขยะ  ซึ่งวิธีการแก้ ปัญหาที่ยั่งยืนนั้น จะต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ  ดังนั้น ควรเริ่มที่บ้าน โดยผู้ปกครองของเด็กควรปลูกฝังเรื่องการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย  รวมไปถึงการสนับสนุนให้เด็กรักการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจนติดเป็นนิสัย  
ทั้งนี้หากทุกคนในสังคมร่วมมือกัน ปัญหาเด็กไทยติดอาหารขยะคงคลี่คลายได้ในเร็ววัน


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สารคดี : ที่นี่เขาค้อ

บทละครวิทยุ